Owen, Robert (1771-1858)

นายรอเบิร์ต โอเวน (๒๓๑๔-๒๔๐๑)

​​     ​รอเบิร์ต โอเวน เป็นนักปฏิรูปสังคมและนักสังคมนิยมแนวยูโทเปีย (Utopian Socialist) เป็นเจ้าของโรงงานปั่นฝ้ายที่ประสบความสำเร็จมากในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ของอังกฤษ โอเวนยังมีชื่อเสียงในฐานะผู้ริเริ่มระบบการศึกษาสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน ทั้งบุกเบิกการจัดตั้งระบบสหกรณ์และสหภาพแรงงานของอังกฤษ
     ​โอเวนเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๑ ที่ เมืองนิวทาวน์ (Newtown) ตอนกลางของเวลส์เป็นบุตรคนที่ ๖ ของช่างทำอานม้าและช่างตีเหล็ก เขาเป็นเด็กที่สดใสร่าเริงและเรียนเก่งจนสามารถติววิชาให้ เพื่อน ๆ ขณะอายุได้เพียง ๗ ปีก่อนอายุครบ ๑๐ ปีก็อ่านหนังสือคลาสสิกได้หลายเล่มเช่น Pilgrim Progress และ Robinson Crusoe ทั้งยังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ และหนังสือเทววิทยาซึ่งยากแก่การเข้าใจของเด็กส่วนใหญ่ด้วย โอเวนออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้ ๙ ปีและ ไปเป็นเด็กฝึกงานในร้านขายเครื่องเย็บปักถักร้อยใกล้ บ้านประมาณ ๑ ปีก่อนที่จะเดินทางไปกรุงลอนดอนกับพี่ชาย หลังจากนั้นเขาฝึกงานในร้านขายผ้าของเจมส์ แมกกัฟฟ็อก (James McGuffog) ที่สแตมฟอร์ด (Stamford) มณฑลลิงคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) เป็นเวลา ๓ ปี โอเวนมีความสุขกับการทำงานที่ร้านแห่งนี้มากเพราะเจ้านายใจดีและอนุญาตให้เขาศึกษาหาความรู้ต่อด้วยตนเองได้ และเขายังได้รับอิทธิพลด้านความคิดเสรีนิยมทางศาสนาจากครอบครัวแมกกัฟฟ็อกด้วย


     ใน ค.ศ. ๑๗๘๕ โอเวนกลับไปกรุงลอนดอนเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม และได้งานเป็นผู้ช่วยในร้านขายผ้าชั้นนำใกล้สะพานลอนดอน (London Bridge) แต่ ต้องทำงานหนักในสถานที่ ทำงานซึ่งมีสภาพย่ำแย่ เขาทำได้เพียง ๒ ปีก็ลาออก เพราะสุขภาพทรุดโทรม ใน ค.ศ. ๑๗๘๗ เขาได้งานที่ร้านขายผ้าขนาดใหญ่ในเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการทอผ้าฝ้าย และที่นี่โอเวนได้พบกับเออร์เมสต์ โจนส์ (Ermest Jones) วิศวกรหนุ่มผู้ทำให้ เขาเชื่อว่าเครื่องปั่นฝ้ายที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับเจ้าของโรงงาน โอเวนได้เรียนรู้ความสำเร็จของริชาร์ด อาร์กไรต์ (Richard Arkwright) เจ้าของโรงงานที่ครอมฟอร์ด (Cromford) ซึ่งติดตั้งเครื่องปั่นฝ้ายนี้ เขาจึงเห็นโอกาสที่จะสร้างตัวและขอยืมเงิน ๑๐๐ ปอนด์จากพี่ชายเพื่อมาลงทุนตั้งโรงงานปั่นฝ้ายร่วมกับโจนส์ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ โดยเขาเป็นผู้บริหารกิจการ แต่ธุรกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามประสบการณ์ในการบริหารมีส่วนช่วยให้โอเวนได้งาน เป็นผู้จัดการโรงงานปั่นฝ้ายพิกคาดิลลี (Piccadilly Mill) ของปีเตอร์ ดริงก์วอเตอร์ (Peter Drinkwater) ในเมืองแมนเชสเตอร์ พิกคาดิลลีเป็นโรงงานขนาดใหญ่และทันสมัยมีลูกจ้างถึง ๕๐๐ คน โอเวนในวัยเพียง ๒๐ ปีก็ประสบความสำเร็จในการบริหารเพราะเขาพัฒนาวิธีการปั่นด้ายจนมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตเส้นด้ายคุณภาพดี แต่ใน ค.ศ. ๑๗๙๕ เขาก็ลาออกเพราะโรงงานไม่ยอมให้เขาเข้าเป็นหุ้นส่วน เขาจึงลงทุนร่วมกับโจนาทาน สการ์ท (Jonathan Scarth) และริชาร์ด มูลสัน (Richard Moulson) ก่อตั้งโรงงานปั่นฝ้ายบนที่ดินที่ซื้อมาจากแซมวล มาร์สแลนด์ (Samuel Marsland) และใน ค.ศ. ๑๗๙๖ ทอมัส แอตคินสัน (Thomas Atkinson) นายธนาคารได้เป็นหุ้นส่วนด้วยซึ่งทำให้ฐานะทางการเงินของโรงงานมั่นคงขึ้นจนก่อตั้งเป็นบริษัทชื่อชอร์ลตันทวิสต์ (Chorlton Twist Company)
     โอเวนเป็นนักธุรกิจที่ได้รับความเชื่อถือและมีชื่อเสียงของเมืองแมนเชสเตอร์ใน ค.ศ. ๑๗๙๓ ด้วยวัยเพียง ๒๒ ปีเขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมปรัชญาและวิชาการของเมือง ที่นี่เปิดโอกาสให้โอเวนเรียนรู้เกี่ยวกับความคิดใหม่ ๆ และเริ่มสร้างแนวคิดของตนเอง เขาได้รู้จักมักคุ้นกับชนชั้นสูงหลายคนและได้เป็นเพื่อนกับนักคิดชั้นนำ อาทิ ดร.ทอมัส เพอซิวัล (Dr. Thomos Percival) นักปฏิรูปด้านสาธารณสุข แซมวล โคลริดจ์ (Samuel Coleridge) กวี และจอห์น ดัลตัน (John Dalton) นักเคมี โอเวนเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมอย่างสม่ำเสมอและได้เสนอบทความเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม แนวความคิดเรื่องการปฏิรูปสังคมมีส่วนทำให้เขาได้เข้าเป็นคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ใน ค.ศ. ๑๗๙๖ ในฐานะของตัวแทนจากอุตสาหกรรมฝ้าย
     โอเวนรู้จักนักธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สำคัญหลายคนและหนึ่งในจำนวนนี้คือเดวิด เดล (David Dale) เจ้าของโรงงานในนิวลานาร์ก (New Lanark) สกอตแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) ประมาณ ๓๒ กิโลเมตร โรงงานนิวลานาร์กซึ่งใช้พลังงานน้ำจากน้ำตกไคลด์ (Clyde) ก่อตั้งขึ้นโดยเดวิด เดล และริชาร์ด อาร์กไรต์ใน ค.ศ. ๑๗๘๔ นับเป็นโรงงานปั่นฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น เดลและโอเวนได้กลายเป็นเพื่อนสนิทกันในเวลาต่อมา ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ โอเวน ซื้อโรงงาน ๔ แห่งในนิวลานาร์กของเดลในราคา ๖๐,๐๐๐ ปอนด์ และในปีเดียวกันนี้ เขาก็แต่งงานกับแคโรไลน์ (Caroline) บุตรสาวของเดล
     ในการบริหารโรงงานที่นิวลานาร์ก โอเวนไม่ได้คำนึงถึงแต่ผลกำไร เขาต้องการปฏิรูปโรงงานให้ทันสมัยและปรับปรุงสภาพการทำงานและสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานให้ดีขึ้น เขาเชื่อมั่นว่าบุคลิกภาพของคนถูกหล่อหลอมโดยสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ดังนั้นหากเขาสามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้ดีและเหมาะสมแล้ว ก็จะสามารถสร้างคนที่มีเหตุผล มีคุณธรรม และมีมนุษยธรรมได้ ความเชื่อเหล่านี้มาจากพื้นฐานความคิดที่ว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นคนดี แต่สังคมที่ เลวร้ายและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมที่พวกเขาได้รับหรือประสบการณ์ที่ไม่ดี ทำให้มนุษย์เปลี่ยนไปเป็นคนเลวร้าย หากมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีก็จะทำให้มนุษย์สามารถนำความดีที่มีอยู่ในตัวออกมาแสดงได้โอเวนต่อต้านการลงโทษทางร่างกายทั้งที่โรงเรียนและที่โรงงาน และให้ยกเลิกการลงโทษแบบนี้ในหมู่บ้านนิวลานาร์ก
     โรงงานนิวลานาร์กมีคนงานประมาณ ๒,๐๐๐ คนซึ่งเป็นเด็กประมาณ ๕๐๐ คน แม้ว่าเดลเจ้าของเดิมจะบริหารงานอย่างมีมนุษยธรรม ทำให้โรงงานนี้มีสภาพดีกว่าโรงงานอีกหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้นเจ้าของโรงงานต้องรับผิดชอบในการจัดหาอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และโรงเรียนให้เด็กฝึกงาน แต่เจ้าของโรงงานส่วนใหญ่มักจะละเลยหน้าที่ความรับผิดชอบ ส่งผลให้เด็กฝึกงานส่วนใหญ่ตัวเล็ก ผอมซีด และไม่รู้หนังสือ นอกจากนี้เจ้าของโรงงานยังไม่สนใจในความปลอดภัยของสถานที่ทำงาน ทำให้เด็กหลายคนต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน คนงานต้องทำงานในโรงงานที่มีแสงสว่างน้อยและทำงานยาวนานโดยได้ค่าจ้างต่ำส่วนพวกคนงานก็ยังชอบดื่มสุราและไม่สนใจในเรื่องของคุณธรรม ปัญหาของพวกคนงานเหล่านี้มีเจ้าของโรงงานเพียงไม่กี่คนที่ตระหนักว่าเกิดจากความยากจนและสภาพความเป็นอยู่และสถานที่ทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
     โอเวนต้องการปฏิรูปโรงงานนิวลานาร์กให้เป็นไปตามแนวคิดสังคมอุดมคติของเขา แม้ว่าจะมีความตั้งใจดี แต่โอเวนก็ต้องเผชิญกับความไม่ไว้วางใจของคนงานเกี่ยวกับระบบใหม่ที่จะนำมาใช้ อย่างไรก็ดีเขาประสบความสำเร็จในการทำให้คนงานไว้ใจ จงรักภักดีและชื่นชมหลังจากที่เขาสั่งให้จ่ายค่าจ้างแก่คนงานต่อเนื่องตลอด ๔ เดือนแม้ว่าจะไม่มีการผลิตเพราะไม่มีฝ้ายจากอเมริกาเนื่องจากภาวะสงครามในต้นทศวรรษ ๑๘๑๐ อย่างไรก็ตาม หุ้นส่วนธุรกิจของเขาซึ่งแม้ว่าจะเห็นใจคนงานก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย จึงกดดันให้มีการเพิ่มชั่วโมงทำงานจาก ๑๓ ชั่วโมงเป็น ๑๔ ชั่วโมงต่อวันทั้งๆ ที่โอเวนตั้งใจที่จะลดชั่วโมงทำงานให้เหลือเพียง ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน นับเป็นการก้าวถอยหลังของการปฏิรูป แต่ใน ค.ศ. ๑๘๑๖ เขาต่อสู้จนสามารถลดชั่วโมงทำงานให้เหลือ ๑๒ ชั่วโมงต่อวันได้ นอกจากนี้ เขายังปฏิรูปในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กฝึกงานได้สำเร็จโดยกำหนดว่าต้องเป็นเด็กในพื้นที่อายุ ๑๐ ปีขึ้นไป ทำงานไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน และให้ไปโรงเรียนเป็นบางเวลาด้วย ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า ๑๐ ปีต้องไปเรียนที่โรงเรียนที่โอเวนให้สร้างขึ้น
     นอกจากการปรับปรุงสภาพและสถานที่ทำงานแล้ว โอเวนยังปฏิรูปสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานด้วย เขาปรับปรุงที่อยู่อาศัยและให้สร้างเพิ่มขึ้นใหม่สร้างถนนลาดยางและวางระบบการทำความสะอาดถนนของหมู่บ้าน และปรับปรุงร้านค้าของบริษัท โดยจะจำหน่ายของคุณภาพดีในราคาที่ต่ำกว่าร้านค้าอื่น ๆ กำไรที่ได้จะนำไปเปิดโรงเรียนฟรีสำหรับเด็กลูกของคนงาน นอกจากนี้ โอเวนยังพยายามกระตุ้นให้คนงานมีสำนึกในเรื่องของคุณธรรมด้วย มีการจัดการบริหารหมู่บ้านนิวลานาร์กคล้ายกับรัฐบาลส่วนท้องถิ่น มีการปรับผู้ที่เมาสุรา หัวหน้าคนงานจะเป็นผู้บันทึกความประพฤติของคนงานและจะใช้เครื่องหมายสีต่าง ๆ สะท้อนความประพฤติของคนงานแต่ละคน สีดำหมายถึงความประพฤติไม่ดี สีน้ำเงินหมายถึงกลาง ๆ สีเหลืองหมายถึงดี และสีขาวหมายถึงดีมาก ปรากฏว่าวิธีการนี้ได้ผลดีมาก จำนวนเครื่องหมายสีเหลืองและสีขาวบนป้ายชื่อคนงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
     ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนที่ จะมีการสร้างโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนสำหรับเด็กยากจนเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยองค์กรของนิกายอังกฤษ (Church of England) และนิกายเควกเกอร์ (Quaker) แต่เนื่องจากความจำเป็นในการหาเลี้ยงชีพ คนงานส่วนใหญ่จึงมักจะให้ลูกทำงานแทนการเรียนหนังสือและทำให้ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบ นายจ้างส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สนับสนุนการศึกษาของเด็กฝึกงาน โอเวนพยายามแก้ไขปัญหานี้เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบุคลิกภาพของคน เขาต้องการให้มีการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ดนตรี เต้นรำ และการเล่นเกมต่าง ๆ ในโรงเรียนเพราะเชื่อว่าการศึกษาควรจะเป็นธรรมชาติและมีการตอบสนองระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน ในขณะเดียวกันก็มีความสนุกสนานด้วย เขาริเริ่มวิธีการสอนแบบใหม่ที่โรงเรียนของหมู่บ้านนิวลานาร์กโดยใช้รูปภาพ แผนที่ และแผนภูมิประกอบการสอน และวางแผนจะเปิดโรงเรียนใน ค.ศ. ๑๘๐๙ แต่ล้มเหลวเพราะถูกหุ้นส่วนธุรกิจของเขาคัดค้าน จนกระทั่งมีการเปลี่ยนหุ้นส่วน ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ เขาจึงสามารถสร้างสถานส่งเสริมการสร้างบุคลิกภาพ และเปิดสอนใน ค.ศ. ๑๘๑๖ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงโรงเรียนของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ใหญ่ด้วยโดยเปิดสอนวิชาต่าง ๆ ในตอนเย็นหลังการเลิกงานแล้วนอกจากนี้ ยังใช้เป็นห้องประชุมของหมู่บ้านเพื่อจัดกิจกรรมทางศาสนา แสดงคอนเสิร์ตและจัดงานเต้นรำนับเป็นความพยายามในการนำระบบการศึกษาผู้ใหญ่มาสู่ผู้ใช้แรงงานเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ เขายังบุกเบิกโรงเรียนสำหรับเด็กก่อนวัยเรียนโดยเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ก่อนอายุ ๖ ปีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เป็นแม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ในขณะที่โรงเรียนในระบบจะเปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ ๖ ปีขึ้นไป โรงเรียนใหม่ของโอเวนประสบความสำเร็จมากและดึงดูดให้มีผู้แวะมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักการศึกษาเท่านั้นแต่รวมถึงนักการทูตจากต่างประเทศและราชวงศ์ด้วยระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๓-๑๘๑๔ โอเวนเขียนบทความหลายบทความเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและ อิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่ มีผลต่อการสร้างบุคลิกภาพ และมีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ A New View Of Society ใน ค.ศ. ๑๘๑๔
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ โอเวนพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปกฎหมายการใช้แรงงานเด็กโดยกำหนดให้เด็กฝึกงานต้องมีอายุอย่างต่ำ ๑๐ ปีและเด็กที่อายุระหว่าง ๑๐-๑๘ ปีให้ทำงานได้ไม่เกิน ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน โดยให้พวกเขาได้รับการศึกษาควบคู่ไปกับการทำงานจนกว่าอายุจะครบ ๑๒ ปี และมีระบบตรวจสอบโรงงานว่าปฏิบัติตามกฎหรือไม่ เมื่อเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* สนับสนุนให้รัฐสภาจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบสภาพโรงงานทั้งหลาย โอเวนได้เสนอความเห็นนี้เกี่ยวกับการปฏิรูประบบโรงงานต่อคณะกรรมาธิการในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๑๖ แต่ข้อเสนอของเขาก้าวหน้าเกินกว่าที่สมาชิกรัฐสภาจะสนับสนุนได้ อย่างไรก็ดีคณะกรรมาธิการได้รับข้อเสนอของเขา แต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่และในที่สุดก็ออกเป็นพระราชบัญญัติโรงงาน (Factory Acts)* ค.ศ. ๑๘๑๙ ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมทอผ้าฝ้ายที่บิดามารดาส่งไปทำงานเพื่อช่วยค่าของชีพของครอบครัวโดย อายุของเด็กฝึกงานถูกเปลี่ยนจาก ๑๐ ปีเป็น ๙ ปีเด็กที่ อายุ ๙-๑๖ ปีให้ทำงานไม่เกิน ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน แต่ไม่มีข้อบังคับเรื่องการศึกษา ระบบการตรวจสอบโรงงานเกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๓ โอเวนผิดหวังมากและล้มเลิกความคิดที่จะต่อสู้ให้มีการปฏิรูปกฎหมายโรงงาน เขาตัดสินใจที่จะเสนอแนวคิดของเขาต่อสาธารณชนโดยตรง
     เมื่ออังกฤษเผชิญกับปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* คนว่างงานจำนวนมากขึ้น ความยากจนแพร่ไปทั่วประเทศเกิดการจลาจลเนื่องจากความอดอยาก โอเวนได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยให้สร้างชุมชนที่มีลักษณะพื้นฐานคล้ายกับของหมู่บ้านนิวลานาร์ก และมีการบริหารในรูปแบบของสหกรณ์ทั้งด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในชั้นต้นข้อเสนอของเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมหลายคน แต่เมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์นิกายอังกฤษ ผู้ที่สนับสนุนเขาอยู่ซึ่งรวมถึงนักปฏิรูปสังคม เช่น วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ (William Wilberforce ) วิลเลียม คอบเบตต์ (William Cobbett) ต่างไม่พอใจและเลิกสนับสนุนเพราะเห็นว่าเขาต่อต้านสถาบันและระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมความชื่นชมที่โอเวนเคยได้รับจากการปฏิรูปโรงงานและการศึกษาจึงเสื่อมลง
     ใน ค.ศ. ๑๘๑๘ โอเวนได้รับการขอร้องให้เสนอรายงานเรื่องการสร้างสังคมอุดมการณ์ต่อคณะกรรมการของเขตนิวลานาร์ก รายงานฉบับนี้ถูกนำเสนอใน ค.ศ. ๑๘๒๐ และได้รับความสนใจพอสมควร มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแผนงานและให้มีการหาทุนเพื่อใช้ในการบริหารชุมชนที่ตั้งขึ้นเพื่อทดลองใช้ระบบการจัดการแบบใหม่ แต่ไม่ได้สนับสนุนให้ใช้กับชุมชนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปโอเวนจึงรับรู้ว่าการสร้างสังคมรูปแบบใหม่ของเขาไม่มีความก้าวหน้าและไม่มีผู้สนับสนุนอย่างจริงจัง
     ต่อมา เมื่อมีการประกาศขายทรัพย์สินที่ฮาร์โมนี (Harmony) รัฐอินดีแอนา (Indiana) สหรัฐอเมริกา โอเวนจึงเดินทางไปสำรวจที่ดังกล่าวในฤดูหนาว ค.ศ. ๑๘๒๔ โดยหวังว่าดินแดนในโลกใหม่นี้จะมีสภาพ แวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับทดลองจัดตั้งสังคมแบบสังคมนิยม เขาพอใจกับสภาพของฮาร์โมนีเพราะมีองค์ ประกอบตรงกับที่เขาต้องการ นั่นคือ มีที่ดินสำหรับทำการเกษตร มีโรงงานอุตสาหกรรมเล็ก ๆ และอาคารที่จะใช้เป็นที่จัดกิจกรรมของชุมชน ใน ค.ศ. ๑๘๒๕ โอเวนจึงซื้อฮาร์โมนีในราคา ๓๐,๐๐๐ ปอนด์ และมอบหมายให้วิลเลียมบุตรชายคนหนึ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งชุมชนแนวสังคมนิยม นอกจากนี้ โอเวนยังได้รับเชิญไปปราศรัยต่อสมาชิกสภาคองเกรส และเขาเดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อประชาสัมพันธ์ความคิดและเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาอยู่ในชุมชนใหม่ที่นิวฮาร์โมนีซึ่งประสบความสำเร็จไม่น้อย
     แม้จะมีผู้เดินทางมาอยู่อาศัยในชุมชนนิวฮาร์โมนีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เหมาะสมที่จะใช้ชีวิตในชุมชนแนวสังคมนิยม และคนที่มีความสามารถในงานการเกษตรหรือทำธุรกิจอุตสาหกรรมเล็กๆ ก็มีจำนวนไม่มากนัก นอกจากนี้ การบริหารชุมชนแม้จะใช้รูปแบบสหกรณ์ตามแนวทางที่โอเวนวางไว้ แต่เนื่องจากไม่มีการแนะนำจากโอเวนอย่างต่อเนื่องทำให้การจัดการชุมชนเริ่มมีปัญหา ความไม่พอใจของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดการแยกตัวเป็นชุมชนอิสระหลายกลุ่มด้วยกัน บางกลุ่มก็ยังคงใช้รูปแบบของสหกรณ์อยู่แต่บางกลุ่มเปลี่ยนไปตามแนวทางของศาสนาและการศึกษา การทดลองก่อตั้งสังคมแนวยูโทเปียที่นิวฮาร์โมนีจึงล้มเหลว ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๒๘ โอเวนยกทรัพย์สินให้กับบุตรชายและเดินทางกลับอังกฤษ บุตรชายทั้ง ๔ คนของเขาพักพิงอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นการถาวรและกลายเป็นพลเมืองอเมริกันในที่สุด
     ในการกลับอังกฤษครั้งนี้ โอเวนไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับนิวลานาร์กอีกเพราะเขาได้ขายหุ้นใน โรงงานทั้งหมดไปแล้ว และนำเงินส่วนหนึ่งไปช่วยชุมชนนิวฮาร์โมนีในอเมริกา โอเวนใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในลอนดอนทั้งยังคงเชื่อมั่นในแนวคิดสังคมแนวยูโทเปียและความร่วมมือแบบสหกรณ์ อย่างไรก็ตาม แม้ความคิดของเขาจะไม่ได้รับความสนใจจากชนชั้นกลางและชนชั้นสูง แต่ก็ได้รับความสนใจจากชนชั้นระดับล่างซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ในต้นทศวรรษ ๑๘๓๐ มีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลงและยุติการใช้แรงงานเด็ก ชุมชนของผู้ใช้ แรงงานยังเปิดร้านค้าในรูปแบบของสหกรณ์มากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๘๓๒ โอเวนจัดทำ The Crisis วารสารรายสัปดาห์และเปิดสำนักงานชื่อ The National Equitable Labour Exchange ในกรุงลอนดอนซึ่งใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างสหกรณ์ต่าง ๆ ด้วย เขาเสนอให้สหภาพแรงงานทั้งหลายรวมตัวกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และนำไปสู่การจัดตั้งสหพันธ์แรงงานแห่งชาติ (Grand National Consolidated Trade Union) ของเหล่าสหภาพแรงงานในต้น ค.ศ. ๑๘๓๔ เพียง ๑ สัปดาห์ของ การก่อตั้งก็มีจำนวนสมาชิกมากกว่าครึ่งล้านคนซึ่งสร้างความวิตกแก่รัฐบาลอังกฤษพอสมควร เมื่อมีการจับกุมคนงานเกษตร ๖ คนจากทอลพุดเดิล (Tolpuddle) ในมณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire) ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ในข้อหากระทำผิดกฎหมายและถูกตัดสินจำคุก ๗ ปีโอเวนได้นำคนงานกว่า ๓๐,๐๐๐ คนประท้วง แต่ล้มเหลว ต่อมา สหพันธ์แรงงานแห่งชาติก็เริ่มประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้นเนื่องจากมีการนัดหยุดงานบ่อยครั้งและนายจ้างไม่ให้ทำงาน โอเวนเรียกร้องให้เปิดการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่พวกลูกจ้างไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะต้องการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของพวกเขา ปัญหาความขัดแย้งในแนวทางการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีส่วนทำให้สหพันธ์แรงงานแห่งชาติยุบลงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ และส่งผลให้ร้านสหกรณ์เล็ก ๆ หลายร้อยร้านต้องล้มไปด้วย รวมทั้งวารสาร The Crisis นับเป็นการยุติการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงานที่มีโอเวนเป็นศูนย์กลาง ในเดือน พฤศจิกายน ปีเดียวกัน โอเวนจัดทำ The New Moral World วารสารฉบับใหม่เพื่อเผยแพร่ความคิดเรื่องสังคม คุณธรรมต่อสาธารณชน
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ แม้โอเวนจะอายุ ๖๔ ปี แต่เขายังคงเปี่ยมไปด้วยพลังการทำงาน และยังคงสนใจติดตามข่าวสารและเหตุการณ์ทางสังคม เขาใช้ชีวิตอย่างสมถะตามลำพังเพราะภรรยาเสียชีวิตตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๓๑ และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากบุตรชาย โอเวนอุทิศเวลาส่วนใหญ่เคลื่อนไหวเพื่อสร้างสังคมในอุดมคติ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๓๕-๑๘๔๕ ผู้ที่เห็นด้วยกับความคิดของเขาที่เรียกว่ากลุ่มโอเวนไนต์ (Owenite) ก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๓๙ พวกเขาได้ก่อตั้งสังคมแนวยูโทเปียที่ใช้ระบบความร่วมมือแบบสหกรณ์ที่ควีนส์วูด (Queenswood) ในมณฑลแฮมเชียร์ (Hampshire) โดยโอเวนสนับสนุนอย่างมาก แต่ชุมชนทดลองนี้ก็ล้มเหลวเนื่องจากมีการใช้จ่ายมากเกินกำลัง
     ใน ค.ศ. ๑๘๔๕ โอเวนในวัย ๗๔ ปียังเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส และเริ่มเขียน อัตชีวประวัติซึ่งพิมพ์เผยแพร่ใน ค.ศ. ๑๘๕๗ เมื่อมี การประชุมใหญ่ของสภาสังคมศาสตร์ที่เมืองลิเวอร์พูลใน ค.ศ. ๑๘๕๘ โอเวนซึ่งป่วยอยู่ยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุมด้วย อย่างไรก็ตาม เขาไม่สามารถกล่าวสุนทรพจน์จนจบได้ หลังการประชุมครั้งนี้ เขาเดินทางไปยังเมืองนิวทาวน์บ้านเกิดพร้อมกับเลขานุการผู้ ซื่อสัตย์โดยพักที่โรงแรมแบร์ (Bear Hotel) เขาเสียชีวิตอย่างสงบที่นั่นเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๘ รวมอายุ ๘๗ ปี ร่างของโอเวนถูกฝังใกล้กับหลุมศพของบิดามารดาในสุสานโบสถ์เซนต์แมรีเมืองนิวทาวน์หลุมศพของเขาต่อมามีผู้แวะมาแสดงความเคารพและเยี่ยมเยือนเสมอ ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ สหภาพของกลุ่มสหกรณ์ได้สร้างป้ายและรั้วล้อมรอบหลุมศพของโอเวนอย่างสวยงาม
     โอเวนเป็นนักสังคมนิยมที่ยอมรับเครื่องจักรเทคนิคการผลิตแบบใหม่ และกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เพราะเขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความก้าวหน้าที่จะช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิตมนุษย์ ความคิดของเขามีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียน การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงานและการดำเนินชีวิตการก่อตั้งระบบสหกรณ์ และการก่อตั้งสหภาพแรงงานในอังกฤษ แนวความคิดและผลงานของโอเวนได้รับการบันทึกเป็นภาพยนตร์สารคดีชื่อ The Quest for Universal Harmony ซึ่งเก็บไว้ที่ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวของเมืองนิวลานาร์ก สกอตแลนด์.



คำตั้ง
Owen, Robert
คำเทียบ
นายรอเบิร์ต โอเวน
คำสำคัญ
- ดอร์เซตเชียร์, มณฑล
- กลุ่มโอเวนไนต์
- ควีนส์วูด
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- สงครามนโปเลียน
- นักสังคมนิยมแนวยูโทเปีย
- โอเวน, รอเบิร์ต
- มาร์สแลนด์, แซมวล
- โจนส์, เออร์เนสต์
- พิกคาดิลลี
- มูลสัน, ริชาร์ด
- แมกกัฟฟ็อก, เจมส์
- ลิงคอล์นเชียร์, มณฑล
- อาร์กไรต์, ริชาร์ด
- สการ์ท, โจนาทาน
- โคลริดจ์, แซมวล
- แอตคินสัน, ทอมัส
- ไคลด์, น้ำตก
- ดัลตัน, จอห์น
- เดล, เดวิด
- นิกายเควกเกอร์
- เพอซิวัล, ดร.ทอมัส
- พระราชบัญญัติโรงงาน
- ทอลพุดเดิล
- นิกายอังกฤษ
- สหพันธ์แรงงานแห่งชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1771-1858
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๔-๒๔๐๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf